โรคเท้าช้าง ภัยเงียบจากยุงร้าย

โรคเท้าช้าง ภัยเงียบจากยุงร้าย

โรคเท้าช้าง เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิตัวกลม ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและอาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์เท่านั้น เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่พยาธิชนิดนี้จะเข้าไปอาศัยอยู่ในระบบน้ำเหลือง ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบน้ำเหลืองที่มีหน้าที่ปรับสมดุลของเหลวในร่างกายและต่อสู้กับเชื้อโรค ทำให้มีอาการปวดบวมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นพิการถาวรได้ โรคนี้สามารถแพร่กระจายโดยมียุงเป็นพาหะ ซึ่งหากยุงกัดผู้ที่มีเชื้อนี้แล้วไปกัดผู้อื่น ก็จะทำให้ติดเชื้อได้

โรคเท้าช้าง

อาการของโรคเท้าช้าง

อาการของโรคเท้าช้างมักเกิดขึ้นเมื่อพยาธิที่เติบโตแล้วเข้าไปสู่ระบบน้ำเหลือง โดยลักษณะการแสดงอาการที่พบได้หลัก ๆ ได้แก่

การติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยโรคเท้าช้างส่วนใหญ่มักไม่มีอาการของโรคปรากฏโดยอาจพบการปนเปื้อนของเชื้อจากการตรวจเลือดด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์ส่อง ซึ่งแม้ไม่มีอาการใด ๆ ให้เห็น แต่การติดเชื้อชนิดนี้ก็จะส่งผลเสียหายต่อระบบน้ำเหลืองและไต ตลอดจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่อาจกลับคืนสู่สภาพเดิมได้หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษา

การติดเชื้อเฉียบพลัน สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง เมื่อร่างกายบางส่วนสูญเสียการป้องกันเชื้อโรคเนื่องจากระบบน้ำเหลืองเสียหาย การติดเชื้อเฉียบพลันแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  • การติดเชื้อเฉียบพลันชนิด Acute Adeno-Lymphangitis: ADL พบได้บ่อยกว่าการติดเชื้อแบบ AFL อาจสังเกตว่ามีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตจนเจ็บบริเวณขาหนีบและใต้วงแขน มีอาการเจ็บ ฟกช้ำ แดง บวมบริเวณที่ได้รับผลกระทบ และมักเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียทับซ้อน โดยการติดเชื้อลักษณะนี้ใน 1 ปีจะเกิดขึ้นได้หลายครั้ง โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีความชื้นมากขึ้นบริเวณง่ามนิ้วเท้า นำไปสู่การติดเชื้อราที่จะทำให้ผิวหนังเกิดความเสียหายและเปิดโอกาสให้พยาธิชอนเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
  • การติดเชื้อชนิดเฉียบพลันชนิด Acute Filarial LymphangitisAFL พบได้ไม่บ่อยนัก สาเหตุเกิดจากพยาธิที่โตเต็มวัยแล้วและกำลังจะตาย ไม่ว่าจะตายเองโดยธรรมชาติหรือตายเพราะผู้ป่วยได้รับการรักษาก็ตาม มีอาการแสดงเป็นตุ่มก้อนเจ็บขนาดเล็กขึ้นบริเวณที่พยาธิตาย หรือขึ้นตามท่อน้ำเหลืองหรือบริเวณอัณฑะด้วยก็ได้ รวมทั้งอาจส่งผลให้ระบบน้ำเหลืองฟกช้ำและโตขึ้น แต่การติดเชื้อแบบเฉียบพลันชนิดนี้จะไม่มีไข้หรือการติดเชื้อทุติยภูมิปรากฏ

การติดเชื้อชนิดเรื้อรัง เมื่อการติดเชื้อโรคเท้าช้างดำเนินสู่ภาวะเรื้อรัง อาการแสดงคือภาวะบวมน้ำเหลืองและอาจนำไปสู่อาการเท้าช้าง คือมีผิวหนังหรือเนื้อเยื่อที่แข็งและหนา มักเป็นที่ขา แต่ก็เกิดขึ้นที่แขนได้เช่นกัน นอกจากนี้ในเพศหญิงอาจเกิดที่อวัยวะเพศและเต้านม ในเพศชายอาจส่งผลต่ออัณฑะ และมีบางรายที่พบว่าเกิดแผลในระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงอาการอื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อย เช่น ปัสสาวะมีสีขุ่นเหมือนนม เป็นต้น

 

กลุ่มอาการ Tropical Pulmonary Eosinophilia เป็นการติดเชื้อโรคเท้าช้างที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน โดยผู้ป่วยอาจพบว่ามีอาการไอแห้ง ๆ กำเริบเป็นช่วง ๆ ได้ยินเสียงวี้ดและดังภายในปอดทั้ง 2 ข้าง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ไม่อยากอาหาร รู้สึกไม่สบายตัว น้ำหนักลด และอาจพบภาวะต่อมน้ำเหลืองโตหรือตับโตร่วมด้วย

สาเหตุของโรคเท้าช้าง

โรคเท้าช้างเกิดจากเชื้อที่เป็นสาเหตุคือพยาธิตัวกลม โดยชนิดที่พบได้บ่อยคือ Wuchereria Bancrofti และ Brugia Malayi ซึ่งอาศัยอยู่ในคนเท่านั้น พยาธิเหล่านี้สามารถแพร่กระจายจากคนไปสู่คนโดยมียุงเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงกัดผู้ป่วยโรคนี้ พยาธิสาเหตุโรคเท้าช้างที่มีขนาดเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าที่อยู่ในเลือดของผู้ติดเชื้อจะเข้าสู่ยุงจนทำให้ติดเชื้อ

หลังจากนั้นผู้อื่นที่ถูกยุงที่ติดเชื้อนี้กัดจะได้รับเชื้อที่ผ่านจากยุงไปสู่ผิวหนังและเดินทางต่อไปยังท่อน้ำเหลือง โดยพยาธิโรคเท้าช้างจะเจริญเติบโตเต็มที่ก็เมื่ออยู่ในท่อน้ำเหลือง และมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 5-7 ปี และจะเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นล้าน ๆ ตัวภายในเลือด ซึ่งผู้ที่มีพยาธิอยู่เลือดนั้นสามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นต่อไปโดยมียุงเป็นพาหะ

ผู้ที่ถูกยุงกัดหลายครั้งในช่วงเวลาหลาย ๆ เดือน หรือหลาย ๆ ปีมีความเสี่ยงได้รับเชื้อโรคเท้าช้าง โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเขตร้อนชื้นเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นลักษณะภูมิอากาศที่พบเชื้อได้บ่อยและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงสุด ทว่านักท่องเที่ยวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เพียงช่วงระยะสั้นจะมีโอกาสติดเชื้อได้น้อยกว่า

การวินิจฉัยโรคเท้าช้าง

วิธีวินิจฉัยโรคเท้าช้างขั้นพื้นฐานคือการใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจหาการติดเชื้อพยาธิที่ยังไม่โตเต็มวัยซึ่งอยู่ภายในเลือดของผู้ป่วย ทว่าพยาธิเหล่านี้อาจจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวในเลือดช่วงเวลากลางวัน การเก็บตัวอย่างเลือดจึงอาจต้องทำในตอนกลางคืน หรือมีการให้ยาไดเอทิลคาร์บามาซีนแก่ผู้ป่วยในปริมาณเล็กน้อย เพื่อเร่งให้พยาธิออกมาเคลื่อนไหว ทั้งนี้ นอกจากการตรวจเลือดแพทย์ยังสามารถใช้การวินิจฉัยอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • การตรวจปริมาณสารแอนติบอดีในเลือด เป็นวิธีการตรวจดูปฏิกิริยาจากสารก่อภูมิแพ้ที่เกิดจากพยาธิโดยใช้เครื่องมือทดสอบเลือด และถือเป็นทางเลือกสำหรับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีต่อมน้ำเหลืองบวม ภาวะที่อาจใช้เวลาหลายปีหลังจากการติดเชื้อกว่าจะแสดงให้เห็นและการตรวจทางห้องปฏิบัติมักตรวจไม่พบเชื้อในผู้ป่วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการติดตามผลการรักษาได้ด้วย
  • การตรวจปัสสาวะ หากสงสัยว่าผู้ป่วยอาจติดเชื้อโรคเท้าช้าง แพทย์อาจส่งตรวจปัสสาวะของผู้ป่วยเพื่อตรวจดูความขุ่นคล้ายน้ำนมของปัสสาวะ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการที่ท่อน้ำเหลืองถูกปิดกั้น และตรวจหาพยาธิต้นเหตุของโรคเท้าช้างในปัสสาวะ
  • การถ่ายภาพ เป็นวิธีวินิจฉัยโดยการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ตรวจดูการอุดตันของท่อน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบและถุงอัณฑะ

การรักษาโรคเท้าช้าง

 

การรักษาโรคเท้าช้างจะมุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เชื้อติดต่อไปยังผู้อื่นด้วยการรับยากำจัดพยาธิเพื่อลดปริมาณพยาธิให้น้อย จนกระทั่งผู่ป่วยไม่สามารถกระจายเชื้อต่อไปได้ โดยยาที่ใช้อาจมีเพียงชนิดเดียวหรือใช้ควบคู่กัน 2 ชนิดก็ได้ เช่น การให้ยาอัลเบนดาโซล 400 มิลลิกรัม ร่วมกับยาไอเวอร์เมคติน 150-200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือยาไดเอทิลคาร์บามาซีนไซเตรต 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม รับประทานปีละครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้ยานี้จะมีฤทธิ์ช่วยฆ่าพยาธิต้นเหตุของโรคที่อยู่ในเลือดและสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีกต่อไป แต่ก็ไม่สามารถฆ่าพยาธิที่โตเต็มที่ได้หมด นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโรคเท้าช้างนั้นแม้ผ่านระยะเวลาของการติดเชื้อหรือเมื่อพยาธิที่เจริญเต็มที่ตายไปแล้ว แต่ภาวะต่อมน้ำเหลืองบวมก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้อยู่ดี ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาภาวะต่อมน้ำเหลืองบวมโดยเฉพาะ และปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้เพื่อไม่ให้อาการแย่ลงกว่าเดิม

  • ทำความสะอาดส่วนที่มีอาการบวมอย่างระมัดระวังด้วยสบู่และล้างด้วยน้ำสะอาดทุกวัน
  • พยายามป้องกันการติดเชื้อในบริเวณที่เกิดแผลให้ดี อาจใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้หากจำเป็น
  • เพิ่มการออกกำลังกายในแขนหรือขาที่บวม เพื่อให้น้ำเหลืองในร่างกายได้มีการเคลื่อนไหวและเพิ่มการไหลเวียนให้มากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเท้าช้าง

 

โรคเท้าช้างที่อันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตนั้นพบได้น้อยครั้ง แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้มักนำไปสู่การมีสุขภาพไม่แข็งแรง โดยอาการเจ็บป่วยจากโรคเท้าช้างส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปฏิกิริยาต่อพยาธิโรคเท้าช้างหรือการแพร่กระจายของพยาธิที่โตเต็มที่แล้วในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้สมรรถภาพและประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง

ส่วนอาการของโรคเท้าช้างที่ดำเนินไปสู่ขั้นเรื้อรังจะก่อให้เกิดภาวะบวมน้ำเหลือง ทำให้มีน้ำเหลืองสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ หรือมีภาวะโรคเท้าช้าง คือ ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบริเวณแขนขาหนาและแข็งตัวขึ้น รวมถึงบริเวณเต้านม อวัยวะสืบพันธุ์ และมีลูกอัณฑะบวมโตและเจ็บ ซึ่งความผิดปกติทางร่างกายที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การตีตราและไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้าง นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังได้ประกาศให้โรคเท้าช้างเป็นโรคอันดับ 2 ที่อาจนำไปสู่การทุพพลภาพอย่างถาวรและยาวนานรองลงมาจากโรคเรื้อน

การป้องกันโรคเท้าช้าง

การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดเป็นทางที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคนี้ โดยยุงที่เป็นพาหะของโรคเท้าช้างมักจะออกกัดในช่วงหัวค่ำและใกล้รุ่ง หากคิดว่าตนอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคนี้ควรนอนในห้องที่มีมุ้งลวดหรือกางมุ้งเสมอ สวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว และทายากันยุงในช่วงพลบค่ำหรือรุ่งสางที่มียุงชุกชุม นอกจากนี้ยังควรมีการควบคุม หมั่นกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย และมีการใช้สารเคมีฉีดพ่นโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

 

อ้างอิงจาก .......https://www.pobpad.com

13 มิถุนายน 2561 4949

ข่าวสาร/บทความ

ยุงร้ายกว่าเสือ
ยุงร้ายกว่าเสือ

ได้ยินกันมานานแล้วเรื่องความร้ายกาจของยุง และยังร้ายกว่าเสือ ประมาณว่ามีการออกโรงรณรงค์กำจัดยุงทั้งยุงเด็ก ยุงแก่ รวมลูกน้ำ มาตั้งแต่หมอยังเด็กๆ

  • 20 กุมภาพันธ์ 2564
  • 5893
กรมควบคุมโรค เตือนภาคใต้หลังน้ำลด ระวังไข้เลือดออกระบาด
ระวัง!