โรคติดต่อที่เกิดจากยุง

โรคติดต่อที่เกิดจากยุง

เห็นได้ว่ามีโรคหลากหลายที่พบได้บ่อยใน ช่วงฤดูฝน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อที่เกิดจาก ยุง ดังนั้นโรคพบบ่อยช่วงฤดูฝนตอนที่ 1 นี้ ทางโรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลกจึงขอกล่าวถึงกลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ นำโรคที่พบบ่อยได้แก่ โรคไข้เลือดออกเดงกี่ โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี และโรคมาเลเรีย เพื่อให้ทุกท่านสามารถรับมือป้องกันโรคกลุ่มนี้กันครับ

1. ไข้เดงกี่ และไข้เลือดออกเดงกี่ (Dengue fever และ Dengue Hemorrhagic fever)

ไข้เดงกี่ และ ไข้เลือดออกเดงกี่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี สายพันธุ์ 2501 (Dengue virus 2501) โดยมียุงลาย เป็นพาหะนำโรค ยุงลายมีลักษณะสีขาวสลับดำ มีแหล่งเพาะพันธุ์คือ แหล่งน้ำขังที่ใสและนิ่ง พบชุกชุมมากในฤดูฝน ใช้เวลาฟักตัวจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 9-12 วัน ยุงลายเป็นยุงที่ออกดูดเลือดตอนกลางวัน น้ำลายของยุงลายจะมีเชื้อไวรัสเดงกี่ปนเปื้อนอยู่ เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่กระแสเลือดของคนที่ถูกยุงลายกัดได้ พบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ โดยผู้ใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนพบน้อยกว่าเด็ก แต่เมื่อใดถ้าอาการเกิดรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้วมักจะพยากรณ์โรคเลว ร้ายกว่าผู้ป่วยเด็ก โดยเชื้อไวรัสจะทำให้มีอาการไข้สูง ถ้ามีไข้เพียงอย่างเดียวจะเรียกว่าไข้เดงกี่ แต่ถ้าตรวจเลือดพบภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดออกง่ายและมีการรั่วของพลาสมา จะเรียกว่าไข้เลือดออกเดงกี่ ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกเดงกี่อาจมีน้อยมากคือมีไข้เพียงอย่าง เดียว หรืออาจรุนแรงมากจนเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันไวรัสนี้ การรักษาจึงเน้นที่อาการและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้

การติดต่อ

เกิด จากยุงลาย (Aedes aegypti ) โดยยุงลายตัวเมียจะดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ช่วงที่มีไข้สูง ซึ่งจะมีเชื้ออยู่ในกระแสเลือด และเชื้อจะเพิ่มจำนวนในยุงนาน 8-10 วัน จากนั้นเชื้อจะไปสะสมอยู่ที่ต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงลายกัดคนจะมีน้ำลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ปนออกมาด้วย ทำให้สามารถแพร่เชื้อให้คนที่ถูกกัดคนต่อไปได้ อายุขัยยุงลายชนิดนี้ประมาณ 30-45 วัน

อาการของโรคไข้เดงกี่ และ ไข้เลือดออกเดงกี่

เมื่อ ถูกยุงลายกัด เชื้อไวรัสจะใช้เวลาฟักตัวนาน 5-8 วันจึงจะเริ่มออกอาการ ช่วงแรกจะเป็นระยะไข้ ประมาณ 2-8 วัน โดยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดตามร่างกาย มักไม่มีน้ำมูกหรือไอ อาจรู้สึกเบื่ออาหาร ปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา อาเจียน โดยเฉลี่ยอาการไข้จะอยู่ประมาณ 4-6 วันแล้วไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 จะเกิดภาวะรั่วของสารน้ำในเลือด (พลาสมา)ออกจากเส้นเลือด จนทำให้เกิดภาวะช็อกได้ในระยะนี้ ในขณะที่ผู้ป่วยอีกประมาณ 2 ใน 3 ไม่เกิดภาวะดังกล่าว หลังจากนั้นถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนก็จะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว โดยอาการต่างๆ จะค่อยๆ ทุเลาลง ชีพจรเต้นช้าลงสู่ภาวะปกติ ไม่มีการรั่วของพลาสมา ปริมาณปัสสาวะออกมากขึ้น ผู้ป่วยเริ่มมีความอยากรับประทานอาหาร  และมักมีผื่นเป็นวงเล็กๆ ตามผิวหนัง โดยรวมระยะเวลาทั้งหมดของอาการไข้เลือดออกเดงกี่ประมาณ 7-10 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน
สำหรับอาการของโรคไข้เลือดออกเดงกี่ จะมีอาการได้ ดังนี้

1. ไข้สูง มักมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า38.5 องศาเซลเซียส ไข้สูงเฉียบพลันและสูงลอยนาน 2-7 วัน
2. ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดกระดูก
3. อาจพบอาการเลือดออกง่าย มีจุดเลือดออกขึ้นตามตัว เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ ผู้ป่วยเพศหญิงอาจมีประจำเดือนออกมากผิดปกติ หรือมีรอยจุดแดงตามผิวหนังบริเวณที่มีการกดทับ
4. อาเจียน ปวดท้องมาก
5. อาจเกิดภาวะช็อก ปลายมือปลายเท้าเย็น เหงื่อออกตัวเย็น ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะ 4-6 ชั่วโมง ระดับการรับรู้สติสัมปชัญญะลดลง ผู้ป่วยเด็กเล็กอาจจะมีอาการร้องกวน กระสับกระส่าย

โดยสรุป การติดเชื้อไวรัสเดงกี สามารถแบ่งกลุ่มอาการตามความรุนแรง ได้เป็น

1. กลุ่มอาการไวรัส คือ มีแต่อาการไข้ 2-3 วัน มีผื่นแดงเล็กน้อย
2. ไข้เดงกี่ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ เมื่อยตัว หรือ ปวดกล้ามเนื้อมาก ปวดกระดูก มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
3. ไข้เลือดออกเดงกี่ มีไข้สูงลอย เลือดออก ตับโต มีการรั่วของพลาสมาออกจากเส้นเลือด
4. ไข้เลือดออกเดงกี่ช็อก คือมีภาวะช็อกร่วมด้วย

การปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นโรคไข้เดงกี่ หรือ โรคไข้เลือดออกเดงกี่

1. ในช่วงที่มีไข้สูง ควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพราะการดื่มน้ำเปล่าจะทำให้ระดับเกลือแร่ในเลือดเสียสมดุลได้
2. ลดไข้ ด้วยการเช็ดตัวบ่อยๆ และรับประทานยาลดไข้ แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล และรับประทานปริมาณยาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่เกินวันละ 8 เม็ด เพราะถ้ามากเกินไปจะทำให้ตับอักเสบได้
3. หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกอย่างรุนแรง หรือการเคี้ยวอาหารที่แข็ง จนกว่าจะไม่มีอาการประมาณ 3-5 วัน เพราะอาจยังมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ ทำให้มีเลือดออกง่าย
4. ถ้าคนใกล้ชิดมีไข้สูง แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจอาการ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นไข้เลือดออกเช่นเดียวกัน
5. ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจเกิดผลเสียได้มากเช่น ยาทำให้ตับอักเสบมากขึ้น หรือเกิดแผลในกระเพาะอาหารจนทำให้เลือดออกในช่องท้อง

การป้องกันการติดเชื้อ

1. พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง กางมุ้ง ติดมุ้งลวด หรือใช้อุปกรณ์ดักจับยุง
2. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะภาชนะที่มีน้ำขังควรเทน้ำทิ้งหรือหาฝาปิดภาชนะให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ ยุงลายสามารถวางไข่ได้ และควรกำจัดลูกน้ำยุงลายบริเวณที่อยู่อาศัย (ภายในระยะรัศมี 50 เมตร)

อาการที่ควรไปพบแพทย์

1. ไข้ขึ้นและมีอาการแย่ลงมาก
2. มีเลือดออกผิดปกติ เช่น มีจุดเลือดออกบริเวณผิวหนังตามตัว มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ หรือมีประจำเดือนออกมากผิดปกติ
3. อาเจียนมาก ปวดท้องมาก
4. ซึมลง ไม่ดื่มน้ำ หรือบางรายอาจกระหายน้ำมากกว่าปกติ
5. มีอาการช็อก ได้แก่ ปลายมือปลายเท้าเย็น เหงื่อออกตัวเย็น ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะในช่วงเวลา 4-6 ชั่วโมง ระดับสติสัมปชัญญะการรับรู้น้อยลง ในเด็กเล็กจะมีอาการร้องกวน กระสับกระส่าย
6. ภาวะเลือดออกมาก ได้แก่ อาเจียนเป็นเลือด/ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ มีประจำเดือนออกมากผิดปกติ หรือมีเลือดออกของอวัยวะภายใน
7. ภาวะน้ำเกินจะมีอาการบวม แน่นหน้าอก หายใจเร็วเหนื่อยหอบ แน่นท้อง เนื่องจากมีน้ำท่วมปอด มีน้ำในช่องท้อง
8. อาการทางระบบประสาท ชักเกร็ง  มีการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกตัว เอะอะโวยวาย สับสน ซึมมาก ไม่รู้สึกตัว (พบได้ไม่บ่อย)

สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเดงกี่

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเด็กมีโอกาสเสียชิวิตจากโรค ไข้เลือดออกเดงกี่ได้มากกว่าผู้ใหญ่ ร้อยละ 62.5 เสียชีวิตจากภาวะช็อกนาน  และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะเลือดออกมาก  นอกจากนี้พบว่าร้อยละ 37.5 เกิดจากภาวะน้ำเกิน และอีกร้อยละ 12.5 หรือ 1 ใน 8 ของผู้ป่วยโรคนี้เสียชีวิตจากอาการทางระบบประสาทเช่น ชัก สมองบวม ฯลฯ

 

2. ไข้สมองอักเสบ เจ อี (Japanese Encephalitis)

โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Japanese encephalitis virus (JEV) ที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากพบรายงานผู้ป่วยครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2476 และพบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยมียุงรำคาญ เป็นพาหะนำโรค ยุงรำคาญมีสีน้ำตาลหรือดำ เพาะพันธุ์ใน แหล่งน้ำขังนิ่งจะเป็นน้ำสะอาดหรือสกปรกก็ได้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการทำนาร่วมกับการทำปศุสัตว์  ยุงชนิดนี้พบชุกชมที่ภาคเหนือถึงร้อยละ 80 ระยะฟักตัวจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยนาน 9-13 วัน ยุงรำคาญมักจะออกหากินในเวลากลางคืน ผู้ติดเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบ เจ อี เป็นได้ทุกช่วงอายุแต่พบมากในเด็กแรกเกิดถึง14 ปี โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียน เชื้อไวรัสจะทำให้สมองเกิดการอักเสบ มีโอกาสสมองพิการและเสียชีวิตได้มาก ความสำคัญจึงอยู่ที่การป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ ซึ่งนอกจากจะต้องระวังไม่ให้ยุงกัดแล้ว ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตั้งแต่เด็กอายุ 1 ปี สำหรับผู้ที่ติดเชื้อนี้แล้ว ไม่มียารักษาเฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการให้ยาตามอาการและการระวังไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน เมื่อป่วยเป็นโรคนี้แล้วพบว่าอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50

การติดต่อ

เกิดจากยุงรำคาญ (Culex tritaeniorrhynchus) ที่มีเชื้อไวรัส JEV โดยยุงรำคาญตัวเมียจะดูดเลือดจากลูกสุกรที่เป็นแหล่งเชื้อไวรัส JEV (สามารถพบในโค กระบือ ม้า ลา หรือ แพะ ได้) เมื่อเชื้อเข้าสู่ตัวยุงแล้วจะเพิ่มจำนวนและไปสะสมที่ต่อมน้ำลาย ซึ่งทำให้สามารถแพร่เชื้อให้คนที่ถูกยุงกัดได้

อาการของโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี 
เมื่อถูกยุงรำคาญกัด เชื้อจะใช้เวลาฟักตัว 5-15 วัน จากสถิติพบว่าผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสจากยุงกัดส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ มีเพียง 1 คนใน 200-300 คนเท่านั้นที่จะแสดงอาการป่วยออกมา ทั้งนี้ขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่ละคน  เริ่มจากอาการไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน มีอาการเหล่านี้นานประมาณ 1-7 วัน (ส่วนใหญ่ 2-3 วัน) จากนั้นจะเริ่มมีอาการทางระบบประสาท เช่น ต้นคอแข็ง ซึมลง เพ้อ ชัก หมดสติ อัมพาต ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ร้อยละ 15 -30 หลังจากนั้นไข้จะเริ่มลดลง อาการทางระบบประสาทอาจค่อยๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยจำนวน 1 ใน 3 หรืออาจสูงถึงครึ่งหนึ่งที่จะมีภาวะแทรกซ้อนหลงเหลืออยู่ เช่น สมองบางส่วนถูกทำลาย เกิดอาการชัก และความพิการตามมา รวมถึงอาจทำให้ระดับสติปัญญาถดถอยลง

การป้องกันการติดเชื้อ

1. เด็กทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี (JE vaccine) ซึ่งอยู่ในโปรแกรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจอี ปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่

1.1 วัคซีนชนิดเชื้อตาย สามารถรับการฉีดได้ครั้งแรกตั้งแต่อายุ  1 ปีครึ่ง ส่วนการฉีดครั้งที่ 2 ให้ทิ้งระยเวลาห่างจากเข็มแรก 7-14 วัน และเข็มที่ 3 ฉีดห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ1 ปี และอาจต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 4-5 ปี อีกไม่เกิน 2 ครั้ง

1.2 วัคซีนแบบชนิดเชื้อเป็น เข็มแรกฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี และเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 ปี โดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น
หมายเหตุ: สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี มาก่อน ควรฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม

2. หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง กางมุ้ง ติดมุ้งลวด หรือใช้อุปกรณ์ดักจับยุง
3. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและทำลายลูกน้ำยุงบริเวณที่อยู่อาศัย และบริเวณที่มีปศุสัตว์ (โดยเฉพาะสุกร) และให้สัตว์ฉีดวัคซีนป้องกันโรค

อาการที่ควรไปพบแพทย์

มีอาการไข้ ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น ต้นคอแข็ง ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ซึมลง เพ้อ ชักหมดสติ หรืออัมพาต ควรไปพบแพทย์ทันที

 

3. โรคมาลาเรีย (Malaria)

โรคมาลาเรีย หรือ ไข้จับสั่น หรือ ไข้ป่า เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) ที่ก่อโรคในมนุษย์มีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ P. falciparum, P. vivax, P. malariae, P. ovale  และ P. knowlesi  โรคนี้มีประวัติการระบาดมายาวนานกว่า 1,500 ปี จนเมื่อปีพ.ศ. 2423 แพทย์ทหารชาวฝรั่งเศสชื่อ Charles-Louis-Alphonse Laveran ได้ตรวจพบเชื้อพลาสโมเดียมในเม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ยุงที่เป็นพาหะนำโรคนี้คือ ยุงก้นปล่อง ในสกุล Anopheles ซึ่งเป็นยุงที่มีขนาดใหญ่ สีน้ำตาลหรือดำ จุดสังเกตคือเวลาเกาะแล้วดูดเลือดจะยกก้นขึ้นทำมุมกับผิวหนังประมาณ 45 องศา พบชุกชุมมากในฤดูฝน ช่วงฟักตัวจนถึงตัวเต็มวัย ใช้เวลาระยะเวลานาน 9-12 วันโดยยุงก้นปล่องสายพันธุ์ dirus  จะพบในป่าทึบโดยใช้ แอ่งน้ำขังนิ่ง น้ำสะอาด เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และมักจะออกมาดูดเลือดคนในเวลากลางคืน ส่วนยุงก้นปล่องสายพันธุ์ minimus พบบริเวณชายป่า มีแหล่งเพาะพันธุ์คือลำธารที่มีน้ำสะอาดไหลเอื่อยๆ ยุงสายพันธุ์หลังนี้จะออกมากัดคนในช่วงเวลาหัวค่ำจนถึงดึก เด็กที่ได้รับเชื้อจะอาการหนักกว่าผู้ใหญ่ ปัจจุบันมียาฆ่าเชื้อพลาสโมเดียมเฉพาะ แต่พบว่าเชื้อดื้อยาค่อนข้างมาก ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ดีสำหรับป้องกันโรคมาเลเรีย

การติดต่อ

โรคนี้เกิดจากยุงก้นปล่อง (ทั้งหมดมี 6 สายพันธุ์ที่ก่อโรคในประเทศไทย ที่สำคัญ คือ Anopheles dirus และAnopheles minimus) ที่มีเชื้อพลาสโมเดียม โดยยุงก้นปล่องตัวเมียจะดูดเลือดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อพลาสโมเดียมระยะมีเพศ  (Gametocyte) จากนั้นเชื้อจะเข้าไปเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนในตัวยุงจนเป็นระยะตัวอ่อน (Sporozoite) และจะไปสะสมที่ต่อมน้ำลายของยุง ทำให้สามารถแพร่เชื้อให้คนที่ถูกยุงกัดได้ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนจะเจริญเติบโตต่อไป ทำให้เกิดอาการไข้เป็นๆ หายๆ  นอกจากโรคนี้จะติดต่อโดยการถูกยุงก้นปล่องกัดแล้ว ยังสามารถติดต่อจากมารดาถ่ายทอดทางรกไปสู่ทารกในครรภ์ได้ หรือ การได้รับเลือดจากผู้ที่มีเชื้อพลาสโมเดียมก็ทำให้ติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน

อาการของโรคมาลาเรีย

เมื่อถูกยุงก้นปล่องกัด เชื้อพลาสโมเดียมแต่ละสายพันธุ์จะใช้ระยะเวลาฟักตัวไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยแล้วทุกสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์  falciparum  สายพันธุ์ vivax สายพันธุ์ ovale  และสายพันธุ์ P. knowlesi จะใช้ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน มีเพียงสายพันธุ์ malariae เท่านั้นที่ใช้ระยะฟักตัวนานเกินสองสัปดาห์คือประมาณ 18-40 วัน จึงจะเริ่มแสดงอาการของโรค

อาการที่สำคัญคือ ไข้ โดยช่วงแรกจะมีไข้ขึ้นไม่เป็นเวลา ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ประมาณ 2-3 วัน ต่อมาไข้จะสูงขึ้นเป็นเวลา ผู้ที่ติดเชื้อพลาสโมเดียมสายพันธุ์ falciparum  จะมีไข้กลับซ้ำทุกวัน แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์ vivax จะมีไข้ทุก 24-48 ชั่วโมง ส่วนสายพันธุ์ malariae มีไข้ทุก 72 ชั่วโมง ส่วนสายพันธุ์ ovale มีไข้ทุก 48 ชั่วโมง ในขณะที่สายพันธุ์ ช่วงที่มีไข้จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1. ระยะหนาว อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น ชีพจรเร็ว ผิวหนังเย็นซีด มีอาการหนาวสั่นขนลุก ห่มผ้าหรือประคบอุ่นไม่หาย ระยะนี้นานประมาณ 15-20 นาที ก่อนจะเข้าสู่ระยะต่อไป

ระยะที่ 2. ระยะร้อน อุณหภูมิร่างกายสูงประมาณ 38-40 องศาเซลเซียส ชีพจรเต้นแรง ผิวหนังร้อนแดง คลื่นไส้อาเจียน ระยะนี้นานประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 3

ระยะที่ 3. ระยะเหงื่อออก อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว เหงื่อออกทั่วร่างกาย ระยะนี้นานประมาณ 1 ชั่วโมง
ต่อมาร่างกายจะเข้าสู่ระยะพัก อาการปกติ ไม่มีไข้ ไม่มีอาการอื่น ช่วงเวลานี้ขึ้นกับการแบ่งตัวของเชื้อพลาสโมเดียมแต่ละสายพันธุ์

นอกจากอาการไข้หนาวสั่นแล้ว ผู้ติดเชื้อมาเลเรียอาจมีอาการหน้าซีด ปากซีด จากการที่เชื้อทำลายเม็ดเลือดแดงจนแตก เกิดภาวะโลหิตจาง มีอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน และมีปัสสาวะสีเข้มเหมือนสีน้ำปลาหรือสีโค้กได้

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคมาลาเรีย

1. กินยาฆ่าเชื้อมาลาเรียให้ครบตามแพทย์สั่ง เพราะเชื้อมาลาเรียมีโอกาสดื้อยาสูง ทำให้อาการไม่ดีขึ้นหรืออาจแย่ลง และถ้าเป็นชนิด P. vivax และ P. ovale ต้องกินยาต่อเพราะจะฆ่าเชื้อที่หลบซ่อนที่เซลล์ตับ ทำให้ลดโอกาสการเกิดซ้ำได้
2. พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคมาลาเรีย
3. การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการขาดน้ำได้

การป้องกันการติดเชื้อ

1. หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการถูกยุงก้นปล่องกัด เช่น ป่าทึบ หรือ แหล่งที่มีการระบาดของเชื้อมาลาเรีย

2. ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ พยายามไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด ไม่ควรสวมเสื้อผ้าสีเข้มเพราะยุงชอบแสงสลัว หากต้องค้างแรม ควรกางมุ้ง เต็นท์ที่กันยุง หรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง

3. ปัจจุบันไม่แนะนำให้รับประทานยาเพื่อป้องกันมาลาเรียก่อนเดินทางไปยังแหล่ง ระบาดของโรคมาเลเรีย เนื่องจากประสิทธิผลของการรับประทานยาป้องกันต่ำมาก ส่งผลให้เชื้อมีโอกาสดื้อยาสูง และอาจบดบังอาการจนทำให้ตรวจวินิจฉัยโรคได้ช้า

อาการที่ควรไปพบแพทย์

หลังจากเดินทางเข้าไปในบริเวณที่มีความ เสี่ยง ได้แก่ ป่าทึบ หรือ ชายป่า หรือจังหวัดที่เป็นแหล่งของเชื้อมาเลเรีย ภายในระยะเวลา 7-40 วัน ถ้ามีอาการไข้หนาวสั่น เป็นๆ หายๆ ควรพบแพทย์ทันที เพราะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคมาลาเรีย และเนื่องจากโรคมาลาเรียส่วนใหญ่จะไม่หายเอง ต้องได้รับยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย โดยเฉพาะหากไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อนมักจะมีอาการรุนแรงมาก ผู้ติดเชื้อบางรายจำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล

ภาวะแทรกซ้อน

1. เชื้อมาลาเรียขึ้นสมอง (Cerebral malaria) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เกิดจากเชื้อสายพันธุ์ falciparum  ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท สับสน เพ้อคลั่ง ชักเกร็งกระตุก ระดับความรู้ตัวน้อยลงจนไม่รู้สึกตัว หมดสติ อาจพูดไม่ได้ อัมพาตครึ่งซีก และบางรายอาจเสียชีวิตได้

2. เนื่องจากเชื้อมาเลเรียทำให้เม็ดเลือดแดงแตก จนเกิดภาวะโลหิตจาง และเมื่อเม็ดเลือดแดงแตกจะปล่อยสารเกลือแร่ออกมาด้วย ทำให้สมดุลเกลือแร่ในกระแสเลือดผิดปกติ ที่อันตรายคือสารโพแทสเซียมที่สูงขึ้นจะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติได้

3. เชื้อพลาสโมเดียมสายพันธุ์ vivax และ ovale มีคุณลักษณะพิเศษคือเมื่อรักษาจนกระทั่งหายจากโรคมาลาเรียแล้ว แม้จะไม่ได้รับเชื้อเข้ามาใหม่ แต่ผู้ป่วยสามารถกลับมามีอาการและตรวจพบเชื้อพลาสโมเดียมได้อีก เพราะเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์นี้สามารถหลบซ่อนอยู่ภายในเซลล์ตับและเจริญเติบโตต่อไป ด้วยเหตุนี้ขณะรับการรักษาจึงตรวจไม่พบเชื้อในกระแสเลือด และเมื่อเวลาผ่านไป เชื้อที่ซ่อนอยู่ที่ตับก็สามารถแพร่สู่กระแสเลือดได้อีก ทำให้มีไข้กลับซ้ำ แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าตอนที่ติดเชื้อครั้งแรก

https://bangkokhospitalphitsanulok.com/infectious-diseases-caused-by-mosquitoes-2/

19 ธันวาคม 2563 2059

ข่าวสาร/บทความ

ยุงร้ายกว่าเสือ
ยุงร้ายกว่าเสือ

ได้ยินกันมานานแล้วเรื่องความร้ายกาจของยุง และยังร้ายกว่าเสือ ประมาณว่ามีการออกโรงรณรงค์กำจัดยุงทั้งยุงเด็ก ยุงแก่ รวมลูกน้ำ มาตั้งแต่หมอยังเด็กๆ

  • 20 กุมภาพันธ์ 2564
  • 3997
กรมควบคุมโรค เตือนภาคใต้หลังน้ำลด ระวังไข้เลือดออกระบาด
ระวัง!