‘ยุงลาย’ กลายเป็น ‘ยุงร้าย’ ตอนไหน และเมื่อใดต้องกำจัด?

‘ยุงลาย’ กลายเป็น ‘ยุงร้าย’ ตอนไหน และเมื่อใดต้องกำจัด?

IN FOCUS

  • เมื่อยุงตัวเต็มวัยเพศเมียเริ่มบินได้ 2-3 ชั่วโมงก็พร้อมผสมพันธุ์กับยุงเพศผู้ เสร็จแล้วจะออกหากินดูดเลือดคนเป็นอาหาร ตลอดวงจรของยุงที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคนนี้เอง ที่ยุงลายสามารถกลายเป็น ‘ยุงร้าย’ ได้
  • เนื่องจากยุงลายเพศเมียต้องการโปรตีนไปใช้ในการสร้างไข่ มันจึงกัดคนและจะออกหากินในเวลากลางวัน พบมากในตอนเช้ากับตอนบ่ายถึงเย็น หากยังไม่อิ่ม ยุงก็อาจบินออกมาในช่วงพลบค่ำได้
  • ยุงตัวเต็มวัยเพศเมียจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว แต่สามารถวางไข่ได้ตลอดชีวิต บริเวณผิวน้ำนิ่ง ถึงแม้น้ำจะแห้งไปแล้ว ไข่ของยุงก็จะติดอยู่กับพื้นผิว และทนอยู่ในสภาวะแห้งแล้งได้นาน 1 ปี

แรกเริ่มเดิมที ยุงในสำนวนที่ว่า “ยุงร้ายกว่าเสือ” น่าจะหมายถึง ‘ยุงก้นปล่อง’ พาหะนำโรคไข้จับสั่นหรือมาลาเรียเพียงชนิดเดียว ข้อมูลจากสถาบันวิจัยจัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค ระบุว่าสำนวนนี้ปรากฏขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือราวปี พ.ศ. 2461 เป็นต้นมา ในขณะที่โรคไข้เลือดออกซึ่งมี ‘ยุงลายบ้าน’ เป็นพาหะเพิ่งมีการระบาดในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2501

แต่ในปัจจุบัน ไม่ว่ายุงชนิดไหนก็เป็นพาหะนำโรคมาสู่คน ไม่ว่าจะเป็นยุงลายสวนซึ่งเป็นพาหะนำโรคชิคุนกุนยา ยุงเสือซึ่งเป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง ยุงรำคาญซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ และล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ยุงลายบ้านก็เป็นพาหะนำโรคไข้ซิก้าอีกโรคหนึ่งด้วย จึงนับว่าร้ายกว่าเสือแทบทั้งสิ้น

ถ้ามองแต่วงจรชีวิตของยุงลายเพียงอย่างเดียว ยุงลายมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (holometabolous หรือ complete metamorphosis) ครบทั้งสี่ขั้นตอนเหมือนกับผีเสื้อ เริ่มจากไข่ → ตัวอ่อน (ลูกน้ำ) → ดักแด้ (ตัวโม่ง) → ตัวเต็มวัย และวนกลับไปวางไข่อีกครั้ง กินเวลาทั้งหมดอย่างน้อย 9 วัน ดังภาพที่ 1 ยุงลายก็จะยังเป็นยุงลายเหมือนเดิม

 แต่ในธรรมชาติ เมื่อยุงตัวเต็มวัยเพศเมียเริ่มบินได้ 2-3 ชั่วโมงก็พร้อมผสมพันธุ์กับยุงเพศผู้ซึ่งมักลอกคราบออกมาก่อน 1-2 วัน เสร็จแล้วจะออกหากินดูดเลือดคนเป็นอาหาร และวางไข่ในอีก 2-3 วันถัดมา โดยยุงสามารถวางไข่ได้ตลอดอายุขัย 30-45 วัน ในขณะที่ยุงเพศผู้กินน้ำหวานและอายุขัยสั้นเพียง 6-7 วัน

ตลอดวงจรของยุงที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคนนี้เอง ที่ยุงลายสามารถกลายเป็น ‘ยุงร้าย’ ได้ กล่าวคือ

ไข้เลือดออก ยุงลาย

วงจรชีวิตยุงลาย

1. ยุงร้ายมีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกตั้งแต่เกิด

เนื่องจากแม่ยุงลายที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกสามารถถ่ายทอดเชื้อผ่านทางไข่ (transovarial transmission) ให้ยุงลายรุ่นลูกได้ในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง เช่น ทวีปเอเชีย และทวีปอเมริกาใต้ ดังภาพที่ 2 กรณีนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์และเกิดได้ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น

จากการศึกษายุงลายในกรุงเทพฯ ของสุพัตรา ทองรุ่งเกียรติ และคณะ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พบอัตราการถ่ายทอดเชื้อผ่านไข่อยู่ระหว่าง 0-24.4 ต่อยุง 1,000 ตัว โดยอัตราการถ่ายทอดเชื้อจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน ก่อนหน้าที่จะมีโรคไข้เลือดออกระบาดหนักในเดือนกันยายน ประมาณ 4 เดือน

ไข้เลือดออก ยุงลาย

พื้นที่ที่มีรายงานการถ่ายทอดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกผ่านทางไข่ (ตัวเลขแสดงร้อยละของงานวิจัยที่พบการถ่ายทอดเชื้อ)

ตัดกลับมาที่วัฏจักรของยุงลาย ยุงตัวเต็มวัยเพศเมียจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว แต่สามารถวางไข่ได้ตลอดชีวิต ครั้งละ 100 ฟอง บริเวณผิวน้ำนิ่ง ถึงแม้น้ำจะแห้งไปแล้ว ไข่ของยุงก็จะติดอยู่กับพื้นผิว เช่น ขอบโอ่งได้ และทนอยู่ในสภาวะแห้งแล้งได้นาน 1 ปี พอฤดูฝนวนกลับมาอีกครั้ง มีความชื้นเหมาะสม ไข่ก็จะฟักเป็นลูกน้ำได้ ดังนั้นประชาชนในพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกซ้ำซากในแต่ละปีจึงควรขัดล้างภาชนะที่เคยมีน้ำขังตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูฝนเปลี่ยนน้ำในภาชนะเปิด เช่น แจกันดอกไม้ ขวดเลี้ยงต้นไม้พวกพลูด่างทุกสัปดาห์ (อย่าลืมขัดขอบขวดด้วย!) รวมถึงปิดฝาภาชนะที่ใช้รองน้ำหรือคว่ำภาชนะที่ไม่ใช้แล้วเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ของยุงที่อาจส่งต่อเชื้อไข้เลือดออกจากรุ่นสู่รุ่นได้

ไข้เลือดออก ยุงลาย

มาตรการ ‘5 ป. 1 ข. ป้องกันโรคไข้เลือดออก’ ของกรมควบคุมโรค

2. ยุงร้ายติดเชื้อจากผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

เนื่องจากยุงลายเพศเมียต้องการโปรตีนไปใช้ในการสร้างไข่ มันจึงกัดคนและจะออกหากินในเวลากลางวัน พบมากในตอนเช้ากับตอนบ่ายถึงเย็น หากยังไม่อิ่ม ยุงก็อาจบินออกมาในช่วงพลบค่ำได้ แต่มักบินไปไม่ไกลภายในรัศมี 50 เมตรจากที่พักอาศัยหรือสถานที่ทำงาน เช่น โรงเรียน (เด็กไปโรงเรียนตอนกลางวันจึงมักติดเชื้อจากยุงที่โรงเรียน)

หากไปกัดคนที่กำลังป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกภายในช่วง 5 วันแรกที่มีไข้สูง ซึ่งเป็นช่วงที่มีเชื้อไวรัสปริมาณมากในร่างกาย (viremia) ก็จะทำให้ยุงตัวนั้นได้รับเชื้อไข้เลือดออกเข้าไปด้วย จากนั้นไวรัสก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและกระจายไปยังต่อมน้ำลาย ใช้เวลาประมาณ 8-10 วัน เรียกว่า ระยะฟักตัวในยุง (external incubation period) จึงจะสามารถถ่ายทอดเชื้อให้คนที่ถูกกัดคนถัดไปได้ และแสดงอาการป่วยภายใน 3 สัปดาห์ต่อมา ดังภาพที่ 4

ไข้เลือดออก ยุงลาย

การแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออกจากคนสู่คนโดยมียุงเป็นพาหะ

คนป่วยเป็นไข้สูงนานกว่า 2 วันหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว ก็ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองถูกยุงกัดเช่นกัน เพราะยุงลายที่มากัดมีโอกาสจะได้รับเชื้อไข้เลือดออกและกลายเป็นยุงร้ายถ่ายทอดเชื้อไปสู่ผู้อื่นและส่งต่อให้กับรุ่นลูกได้

สำหรับพื้นที่ที่กำลังมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก เป็นไปได้สูงที่ยุงตัวเต็มวัยในละแวกนั้นจะมีเชื้อไวรัสกำลังฟักตัว ซึ่งก็คือระยะสีเทาในภาพที่ 4 จึงมีเจ้าหน้าที่เข้ามาพ่นสารเคมีกำจัดยุงภายในรัศมี 100 เมตรจากบ้านของผู้ป่วย (เท่ากับสองเท่าของระยะที่ยุงบินได้) ซึ่งเป็นการพ่นแบบฟุ้งกระจาย (space spray) เพื่อให้เกิดม่านหมอกครอบคลุมทั่วถึงในบ้านและนอกบ้าน เนื่องจากยุงชอบเกาะตามสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่สามารถพ่นสารเคมีลงไปได้โดยตรง เช่น เสื้อผ้า เครื่องเรือนในบ้าน เป็นต้น

ไข้เลือดออก ยุงลาย

วิธีป้องกันยุงกัด (ที่มา: ศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา; CDC)

จะเห็นว่าวิธีกำจัดยุงร้ายที่กล่าวไปทั้งหมดเป็นวิธีดั้งเดิมที่เราน่าจะเคยได้ยินมาหมดแล้วตั้งแต่สมัยเด็ก จำได้ว่าตอนประถมฯ ผมเคยวาดภาพประกวด หัวข้อ ‘รณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก’ ได้รางวัลที่ 2 ของโรงเรียน เป็นรูปวิธีต่างๆ อยู่ในวงกลมล้อมรอบตัวยุงลายลักษณะคล้ายอินโฟกราฟิกในปัจจุบัน (ไม่ได้วาดเต็มหน้ากระดาษ เพราะวาดรูปไม่เก่ง-ฮ่าๆ) แต่โรคไข้เลือดออกก็ยังระบาดเป็นระลอกปีเว้นปีหรือปีเว้นสองปีตลอดมา ล่าสุดคือปี 2556 ปี 2558 และปีนี้ 2561 เพราะไม่สามารถควบคุมพาหะนำโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ “ป.” ตัวสุดท้าย คือการปฏิบัติตามมาตรการเป็นประจำสม่ำเสมอ

สำหนัลวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่เริ่มมีการฉีดตามโรงพยาบาลเอกชนเมื่อปีที่แล้ว ก็พบปัญหาในภายหลังที่ประเทศฟิลิปปินส์ว่าป้องกันเฉพาะคนที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนแล้วเท่านั้น ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยป่วยมาก่อนจะทำให้มีอาการหนักขึ้น จึงยังไม่สามารถฉีดให้กับทุกคนเหมือนวัคซีนพื้นฐานตัวอื่นได้

ความหวังจึงอยู่ที่โวบาเคีย (Wobachia) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในตัวแมลงมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงยุงลายด้วย เนื่องจากในเวลาต่อมามีการค้นพบว่าแมลงที่ติดแบคทีเรียชนิดนี้สามารลดหรือชะลอการสะสมของไวรัสกลุ่ม RNA virus ในตัว และสามารถลดอัตราตายจากไวรัสได้ ซึ่งเชื้อไวรัสเด็งกี (Dengue virus) ที่ก่อโรคไข้เลือดออกก็เป็นไวรัสในกลุ่มนี้

นอกจากนี้ โวบาเคียยังมีความสามารถในการควบคุมปริมาณประชากรแมลงด้วย กล่าวคือ ถ้าแมลงเพศเมียที่ไม่มีเชื้อโวบาเคียหรือมีเชื้อคนละสายพันธุ์มาผสมกับกับแมลงเพศผู้ที่มีเชื้อโวบาเคียอยู่ จะทำให้ไข่ไม่สามารถฟักได้ เรียกภาวะนี้ว่า การเข้ากันไม่ได้ของไซโทพลาซึม (cytoplasm incompatibility) จึงเป็นที่มาของโครงการ World Mosquito Program (WMP) ปล่อยยุงลายที่มีเชื้อโวบาเคียจากห้องทดลองเข้าไปแทนที่ยุงลายในธรรมชาติที่ออสเตรเลียเป็นแห่งแรกในปี 2554 และกำลังศึกษาในอีก 12 ประเทศ รวมถึงเวียดนามและอินโดนีเซียบ้านใกล้เรือนเคียงกับเราด้วย

ไข้เลือดออก ยุงลาย

ยุงลายเดิม (สีกรมท่า) ถูกแทนที่ด้วยยุงลายที่มีเชื้อโวบาเคีย (สีฟ้า) เพราะเชื้อในยุงทำให้เกิดความผิดปกติในการสืบพันธุ์ (ที่มา: WMP)

โดยสรุป ยุงลายกลายเป็นยุงร้ายในช่วงตัวเต็มวัยเมื่อบินไปกัดผู้ป่วยที่กำลังมีอาการของโรคไข้เลือดออก จากนั้นเชื้อจะใช้เวลาฟักตัวในยุง 8-10 วัน หลังจากนั้น หากยุงไปกัดใครก็จะทำให้คนนั้นได้รับเชื้อและป่วยเป็นโรค แต่ถ้าหากยุงไปวางไข่ก็มีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูกเป็น “ยุงร้าย” ตั้งแต่แรกเกิด ดังนั้นการกำจัดยุงจึงต้องเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หากไม่ทันก็ต้องไปกำจัดยุงขณะที่ยังเป็นไข่และตัวอ่อนอยู่ แต่ถ้าหากยังไม่ทันอีกก็ต้องกำจัดตัวเต็มวัยที่บินอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค

สุดท้ายถ้าไม่สามารถกำจัดยุงในระยะใดได้เลยก็ต้องป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัดนั่นเอง
 

 

อ้่างอิงจาก....https://themomentum.co/natural-vertical-transmission-of-dengue-virus/

31 สิงหาคม 2561 9166

ข่าวสาร/บทความ

ยุงร้ายกว่าเสือ
ยุงร้ายกว่าเสือ

ได้ยินกันมานานแล้วเรื่องความร้ายกาจของยุง และยังร้ายกว่าเสือ ประมาณว่ามีการออกโรงรณรงค์กำจัดยุงทั้งยุงเด็ก ยุงแก่ รวมลูกน้ำ มาตั้งแต่หมอยังเด็กๆ

  • 20 กุมภาพันธ์ 2564
  • 4098
กรมควบคุมโรค เตือนภาคใต้หลังน้ำลด ระวังไข้เลือดออกระบาด
ระวัง!