ไข้เลือดออก ภัยร้ายที่กำลังรุนแรง

ไข้เลือดออก ภัยร้ายที่กำลังรุนแรง

ไข้เลือดออกเริ่มส่งสัญญาณระบาดช่วง เดือนกรกฎาคม กันยายน 2558 พบผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 จำนวน 102,762 ราย เสียชีวิตแล้ว 102 ราย จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยส่วนมากมีอายุ 10-14 ปี ใน กทม.พบเกือบร้อยละ 40

ตารางที่ 1 : แสดงแนวโน้มผู้ป่วยไข้เลือดออก จากสำนักงานโรคติดต่อโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

# 2553 2554 2555 2556 2557 2558
จำนวนผู้ป่วย 113,014  68,386  76,351 151,502  40,278 102,762
จำนวนผู้เสียชีวิต 139 62 82 133 41 103

   * ข้อมูลปี 2558 เป็นข้อมูลผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 – 2 พฤศจิกายน 2558

 

ตารางที่ 2 : สถานการณ์การเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ โรคไข้เลือดออกเดงกี โรงพยาบาลในเครือ บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) ข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2558

# 2554 2555 2556 2557 2558
ผู้ป่วยยืนยันการตรวจพบเชื้อไข้เลือดออกเดงกี 6,600 9,961 13,018 7,699 11,148
ผู้ป่วยอาการคล้ายไข้เลือดออกเดงกี 32,526 41,995 58,093 42,578 46,312
อัตราการป่วย(%) 20.29% 23.72% 22.41% 18.08% 24.07%

ในปีนี้สภาพอากาศร้อนเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่าห่วง คือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งมีสาเหตุจากยุงลาย มีข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพบว่าขณะนี้ตัวลูกน้ำยุงลายจะกลายเป็นตัวยุงเร็วกว่าอดีตที่ใช้เวลาประมาณ 7 วัน จะใช้เวลาลดลงเป็นประมาณ 5 วัน จึงทำให้ปริมาณยุงตัวโตเต็มวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการวิเคราะห์สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในปี 2558 พบว่าโรคมีสัญญาณอาจเกิดการระบาดในปีนี้ได้ โดยในช่วงเดือนมกราคมจนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเข้ารักษาในโรงพยาบาลสะสมรวม 102,762 ราย เสียชีวิต 102 ราย มากที่สุดในภาคกลางมีร้อยละ 46 ของผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมาคือที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ น้อยที่สุดคือที่ภาคใต้ พบทั้งในเมือง และชนบท โดยสถิติผู้ป่วยใน 10 เดือนแรกปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2552 ถึงร้อยละ 199 เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกในปีนี้ พบทุกกลุ่มอายุ แต่มีแนวโน้มพบในเด็กอายุ 10-14 ปีมากขึ้น

สาเหตุ

  1. เชื้อไวรัสเดงกีที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยถือว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น มีครบทุกสายพันธุ์ หากติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานสำหรับสายพันธุ์นั้นได้ตลอดชีวิต แต่ป้องกันสายพันธุ์อื่นได้ไม่เกิน 1 ปี ดังนั้นคนคนหนึ่ง ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์ที่เหลือได้และการติดเชื้อครั้งที่ 2 นี้ มักเกิดอาการที่รุนแรงมากกว่าการติดเชื้อครั้งแรก
  2. แม้ว่าเคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนก็สามารถเป็นซ้ำได้ หากไม่ได้ป้องกันยุงลายกัด หรือไม่ได้กำจัดลูกน้ำ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นภาชนะใส่น้ำ หรือภาชนะที่มีน้ำขังในบ้าน และบริเวณรอบบ้าน
  3. โดยทั่วไปโรคนี้จะพบชุกชุมในฤดูฝน ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ อาจพบโรคนี้ได้ประปรายตลอดทั้งปี การที่มีโรคนี้ชุกชุมในฤดูฝน เพราะมีจำนวนยุงเพิ่มมากขึ้น และเพราะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และความชื้น จะมีผลต่อจำนวนครั้งของการกัด นอกจากนี้ในฤดูฝน เด็กอาจจะอยู่ในบ้านในเวลากลางวันมากขึ้น โอกาสที่เด็กจะถูกยุงกัดจะมากขึ้นได้
  4. โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อเดงกีมีการระบาดอยู่แล้ว 4 สายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งการระบาดสายพันธุ์ไหนจะมากกว่ากันขึ้นอยู่กับพื้นที่ บางครั้งอาจเกิดความเข้าใจกันไปว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งแท้จริงเป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย
  5. โรคนี้เกิดขึ้นได้ทั้งฤดูฝน และฤดูแล้ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของอุณหภูมิการเก็บกักน้ำใช้ในภาวะแล้งหากไม่ถูกวิธี ปิดฝาไม่สนิทอาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ และอย่างที่บอกไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อเดงกี มียุงลายบ้าน และยุงลายสวนเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงเหล่านี้หากินตอนกลางวันการแพร่ระบาด นอกจากจะมียุงลายเป็นพาหะสำคัญ คนที่เป็นโรคไข้เลือดออกยังเป็นสื่อกลางแพร่เชื้อ ยิ่งช่วงเทศกาลที่มีการเดินทางย้ายถิ่นช่วงนี้จากการติดตามสถานการณ์โรคพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เป็นการแพร่เชื้อโดยแอบแฝง ซึ่งการแพร่เชื้อลักษณะนี้มีสัดส่วนมากกว่าการเกิดจากยุง”
  6. นอกจากไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อเดงกี ยังมีไข้เลือดออกมาเบิร์ก หรือมาร์บวก ซึ่งเชื่อว่านำเชื้อโดยลิงแอฟริกัน ไข้เลือดออกชนิดนี้มีอันตรายรุนแรงมากๆ ผู้ที่ติดเชื้อจะเสียชีวิตลงในเวลารวดเร็ว ขณะนี้พบในประเทศแองโกลา ทวีปแอฟริกาไม่พบในประเทศไทย ไข้เลือดออกแต่ละคนจะมีอาการไม่เหมือนกันแล้วแต่สภาพของแต่ละบุคคลที่จะตอบสนองกับเชื้อนั้นๆ ส่วนสายพันธุ์ที่ 4 ความรุนแรงโดยเฉลี่ยจะมีไม่มากต่างจากสายพันธุ์ 2 และ 3 ที่มีความรุนแรงกว่า

แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

  1. ยุงลายเป็นตัวการสำคัญในการนำโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ยุงลายชอบอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน บริเวณรอบๆ บ้าน หรือภายในบ้านแหล่งเพาะพันธุ์ได้แก่ ภาชนะที่มีน้ำขังค่อนข้างสะอาด เช่น ตุ่มน้ำ ถังซีเมนต์ใส่น้ำอาบ น้ำรองขาตู้กับข้าว ยางรถยนต์เก่าๆ กระป๋อง เป็นต้น ช่วงเวลาที่ยุงลายชอบออกหากินที่สุด คือช่วงเช้าเวลาประมาณ 9.00 – 11.00 น. และช่วงบ่ายประมาณ 14.00 – 16.00 น.
  2. นิสัยของยุงแตกต่างจากแมลงชนิดอื่นๆ บางประการ ยุงตัวผู้ และยุงตัวเมียจะมีจำนวนเท่าๆ กัน ส่วนใหญ่แล้วตัวผู้จะออกจากลูกน้ำก่อน หลังจากตัวเมียออกจากลูกน้ำไม่นานก็จะผสมพันธุ์กันได้ นับเป็นสัตว์ที่ผสมพันธุ์ได้ในเวลาอันรวดเร็วเมื่อเทียบกับอายุขัย
  3. ยุงตัวเมียเท่านั้นที่ดูดกินเลือด ตัวเมียจะบินได้ไกล และมีชีวิตยาวกว่าตัวผู้ ความสามารถในการบินของยุงมีลักษณะเฉพาะของยุงแต่ละชนิด มีความสำคัญในแง่ระบาดวิทยา และการป้องกันโรค เช่น ยุงลายจะไม่บินไกลมักอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน ส่วนยุงก้นปล่อง และยุงรำคาญ จะบินได้ไกล พบว่ายุงก้นปล่องบางชนิดบินได้ไกล 10-20 กม. นอกจากนี้ยังมีบางชนิดสามารถบินไกลถึง 32 กม. หรือไกลกว่านั้นการกินเลือดของยุงแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะ เช่น บางชนิดกินเลือดวัว ควาย ม้า และสัตว์เลี้ยงต่างๆ บางชนิดกินเลือดคน เวลาที่ออกหากินก็ไม่เหมือนกัน บ้างก็ออกหากินเวลากลางคืน บ้างก็ออกหากินเวลากลางวัน
  4. โดยทั่วไปวงจรชีวิตของยุงมีระยะเวลาประมาณ 1 – 2 เดือน แต่บางขณะหากสภาพภูมิอากาศไม่อำนวย ชีวิตของยุงก็อาจจะสั้นเข้ามาอีกตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

อาการ

  1. อาการทั่วไปของโรคนี้ที่เกิดในเด็ก และผู้ใหญ่จะไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ มีไข้สูงมาก กินยาแล้วไข้ไม่ลด อาจมีจุดเลือดออกเล็กๆ สีแดงที่ผิวหนังกระจายตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน แต่ในผู้ใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตามาก มักเป็นรุนแรงกว่าเด็ก และจะมาพบแพทย์ช้า เนื่องจากไม่คิดว่าตัวเองป่วยเป็นไข้เลือดออก มักจะไปซื้อยากินเองก่อนเมื่อรู้สึกมีไข้ หรือไม่สบายตัว ทำให้อาการหนัก รวมทั้งมักใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงทั้งแก้ปวด และลดไข้ ทำให้ระคายเคือง และมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงหากเป็นไข้เลือดออกก็ยิ่งทำให้อาการหนักมากขึ้น
  2. ตามปกติทั่วไปหลังจากมีอาการไข้ แล้วไข้เริ่มลดลง แสดงว่าอาการดีขึ้น แต่หากป่วยเป็นไข้เลือดออก ในระยะที่ไข้ลดลง จะเป็นช่วงที่มีอันตรายมาก ขอให้ประชาชนสังเกตว่าหากระยะที่ไข้ลดลง แต่ผู้ป่วยยังมีอาการซึม อ่อนเพลีย มีอาการปวดท้อง แม้จะรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ กินอาหารได้ก็ตาม จะต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากไม่ไปพบแพทย์ภายใน 10-12 ชั่วโมง อาจเกิดอาการช็อค มีอาการตับวาย ไตวายแทรกซ้อน จนเสียชีวิตได้
  3. ระยะไข้ ทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้อาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน หรือในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง อาจตรวจพบคอแดงได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล หรืออาการไอ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคจากหัดในระยะแรก และโรคระบบทางเดินหายใจได้ เด็กโตอาจบ่นปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ในระยะไข้นี้ อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือ เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดโดยทั่่วๆ ไป และอาจปวดที่ชายโครงขวาในระยะที่มีตับโต ส่วนใหญ่ไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน ประมาณร้อยละ 15 อาจมีไข้สูงนานเกิน 7 วัน อาจพบมีผื่นแดงซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่นหัดเยอรมันได้
  4. อาการเลือดออกที่พบบ่อยที่สุดคือ ที่ผิวหนัง โดยจะตรวจพบว่า เส้นเลือดเปราะ แตกง่าย การทำทดสอบให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดลือดออกเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียน และถ่ายอุจจาระเป็นเลือดซึ่งมักจะเป็นสีดำ อาการเลือดออกในอางเดินอาหาร ส่วนใหญ่จะพบร่วมกบภาวะช็อกที่เป็นอยู่นาน ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่ม และกดเจ็บ
  5. ระยะวิกฤต/ช็อก เป็นระยะที่มีการรั่วของพลาสมาซึ่งจะพบทุกรายในผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี โดยระยะรั่วจะมีประมาณ 24-48 ชั่วโมง ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีจะมีอาการรุนแรง มีภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด/ช่องท้องมาก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ตรวจพบ pulse pressure แคบเท่ากับหรือน้อยกว่า 20 มม.ปรอท (ค่าปกติ 30-40 มม.ปรอท) โดยมีความดันตัวล่างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (BP 110/90, 100/80 มม.ปรอท) ผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีที่อยู่ในภาวะช็อกส่วนใหญ่จะมีภาวะรู้สติดี พูดรู้เรื่อง อาจบ่นกระหายน้ำ บางรายอาจมีอาการปวดท้องเกิดขึ้นอย่างกระทันหันก่อนเข้าสู่ภาวะช็อก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้วินิจฉัยโรคผิดเป็นภาวะทางศัลยกรรม ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง รอบปากเขียว ผิวสีม่วงๆ ตัวเย็น ซีด จับชีพจร และ/หรือวัดความดันไม่ได้ ภาวะรู้สติเปลี่ยนไป และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก หากว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาช็อกอย่างทันท่วงที และถูกต้องก่อนที่จะเข้าสู่ระยะรุนแรง ส่วนใหญ่ก็จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
  6. ในรายที่ไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลง ผู้ป่วยอาจจะมีมือเท้าเย็นเล็กน้อยร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของชีพจร และความดันโลหิตซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในระบบการไหลเวียนของโลหิต เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไป แต่รั่วไม่มากจึงไม่ทำให้เกิดภาวะช็อก ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อให้การรักษาในช่วงระยะสั้นๆ ก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
  7. ระยะฟื้นตัว ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อก เมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถึงแม้จะมีความรุนแรง ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก่อนที่จะเข้าสู่ระยะรุนแรง จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อการรั่วของพลาสมาหยุด Hct จะลงมาคงที่ และชีพจรจะช้าลง และแรงขึ้น ความดันเลือดปกติ มี pulse pressure กว้าง จำนวนปัสสาวะจะเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีความอยากรับประทานอาหาร ระยะฟื้นตัวมีช่วงเวลาประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน ถึงแม้จะยังตรวจพบน้ำในช่องปอดและช่องท้อง ในระยะนี้อาจตรวจพบชีพจรช้า อาจมีผื่นที่มีลักษณะคือ มีวงกลมเล็กๆ สีขาวของผิวหนังปกติท่ามกลางผื่นสีแดง ระยะทั้งหมดของไข้เลือดออกเดงกีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนประมาณ 7-10 วัน

การรักษา

  1. ในระยะไข้สูง บางรายอาจมีการชักได้ถ้าไข้สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีประวัติเคยชัก หรือในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน หากจำเป็นต้องให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวก พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน และ ibuprofen เพราะอาจจะทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ และอาจระคายกระเพาะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น และที่สำคัญอาจทำให้เกิดอาการทางสมอง ควรใช้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวเวลาที่ไข้สูงเท่านั้น เพื่อให้ไข้ที่สูงมากลดลงต่ำกว่า 39 องศาเซลเซียส การใช้ายาลดไข้มากเกินไปจะมีภาวะเป็นพิษต่อตับได้ ควรจะใช้การเช็ดตัวลดไข้ร่วมด้วย ยาลดไข้ไม่สามารถทำให้ระยะไข้สั้นลงได้
  2. จะต้องติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบ และป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา ช็อกมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับไข้ลดลง ประมาณตั้งแต่วันที่ 3 ของการป่วยเป็นต้นไป ทั้งนี้แล้วแต่ระยะเวลาที่เป็นไข้ ถ้าไข้ 7 วันก็อาจช็อกวันที่ 8 ได้ ควรแนะนำให้ผู้ปกครองทราบอาการนำของช็อก ซึ่งอาจจะมีอาการเบื่ออาหารมากขึ้น ไม่รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำเลย หรือถ่ายปัสสาวะน้อยลง มีอาการปวดท้องอย่างมาก กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ควรแนะนำให้นำส่งโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการเหล่านี้
  3. เมื่อผู้ป่วยไปตรวจที่สถานพยาบาลที่ให้การรักษาได้ แพทย์ต้องตรวจเลือดดูปริมาณเกล็ดเลือด และ Hematocrit และอาจนัดมาตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือด และ Hematocrit เป็นระยะๆ เพราะถ้าปริมาณเกล็ดเลือดเริ่มลดลง และ Hematocrit เริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องชี้บ่งว่าพลาสมาเริ่มรั่วออกจากเส้นเลือด และอาจช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย โดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกที่ยังมีไข้ สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยให้ยาลดไข้รับประทาน และแนะนำให้ผู้ปกครองดูแลเผ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และพามารับการตรวจติดตามอาการตามที่แพทย์นัด
  4. ในรายที่ไข้ลด และมีระดับ Hematocrit เพิ่มขึ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 10-20% แต่ไม่มีภาวะช็อก และผู้ป่วยไม่สามารถดื่มน้ำเกลือได้ ต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือด โดยจัดปริมาณ และเวลาการให้ตามการรั่วของพลาสมา ซึ่งประเมินจากอาการ และปริมาณปัสสาวะที่ออกมา ทั้งนี้จะต้องมีการปรับลดปริมาณ และความเร็วตลอดช่วงเวลา 24-48 ชม. เพื่อหลีกเลี่ยงการให้สารน้ำมากเกินไป

การป้องกัน

  1. ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการป้องกันโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนถึงฤดูกาลระบาดทุกปี คือช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมเพื่อป้องกันคนไม่ให้ป่วยให้ได้มากที่สุด โดยให้ทุกพื้นที่ช่วยกันลดจำนวนยุงลายให้เหลือน้อยที่สุด
  2. ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนทุกหลังคาเรือน ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งที่อยู่ในบ้าน เช่นตามแจกันไม้ประดับ น้ำหล่อขาตู้ ต้องเปลี่ยนน้ำทิ้งทุก 7 วัน และแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบๆ บ้าน เช่นที่จานรองกระถางไม้ประดับ รวมทั้งทำลายภาชนะที่อาจเป็นแหล่งให้น้ำขังได้เช่น กระป๋อง กล่องโฟม กะลามะพร้าว ยางรถยนต์ นอนในมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้งลวด
  3. ให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังโรค หากมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก ให้ดำเนินการสอบสวนโรค และควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด
  4. พ่นสารเคมีรอบบ้านผู้ป่วยรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร กำจัดยุงลายที่มีเชื้อให้หมดโดยเร็วที่สุด เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดโรค

 

 

       อาการไข้เลือดออกในช่วงแรกไข้สูงคล้ายไข้หวัดใหญ่ การรักษาใช้การเช็ดตัวหากจำเป็นต้องให้ใช้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้แอสไพริน หากพบจุดเลือดออกเล็กๆกระจายตามลำตัวควรพบแพทย์ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก สิ่งที่ทุกคนทำได้ คือ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปิดฝาภาชนะ เปลี่ยนน้ำในภาชนะขัง นอนในมุ้งหรือพ่นสารเคมีรอบบ้านเพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด

อ้างอิ้ง ......http://bangkokhospitalphitsanulok.com/dengue/

07 สิงหาคม 2561 2896

ข่าวสาร/บทความ

ยุงร้ายกว่าเสือ
ยุงร้ายกว่าเสือ

ได้ยินกันมานานแล้วเรื่องความร้ายกาจของยุง และยังร้ายกว่าเสือ ประมาณว่ามีการออกโรงรณรงค์กำจัดยุงทั้งยุงเด็ก ยุงแก่ รวมลูกน้ำ มาตั้งแต่หมอยังเด็กๆ

  • 20 กุมภาพันธ์ 2564
  • 5569
กรมควบคุมโรค เตือนภาคใต้หลังน้ำลด ระวังไข้เลือดออกระบาด
ระวัง!